Article
พบ 3 ปม รัฐธรรมนูญ – กฎหมายปิดกั้นการตรวจจับคอร์รัปชัน
โดย ACT โพสเมื่อ Nov 03,2017
ตามหลักสากล การเปิดเผยข้อมูลใดๆ เพื่อป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชัน จะเปิดกว้างให้สาธารณชนได้เป็นผู้ตรวจสอบความถูกต้อง เพราะหูตาของประชาชนที่ร่วมมือกันจะสามารถรอบรู้เรื่องราวต่างๆ ได้มากกว่าข้าราชการเพียงหยิบมือที่มีงานยุ่ง และข้อมูลที่นำไปสู่การตรวจสอบเพิ่มเติมของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมนั้น พบว่ามีถึงร้อยละ 60 ที่เริ่มมาจากการขุดคุ้ยของสื่อมวลชน
แต่ขณะนี้พบว่า รัฐธรรมนูญและระเบียบราชการ กำลังกลายเป็นตัวสกัดกั้นการตรวจสอบของสื่อมวลชนและประชาชนที่เคยได้ผลดีมาตลอด ดังนี้
1. จากนี้ไปประชาชนและสื่อมวลชนจะไม่มีโอกาสตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของนักการเมืองและข้าราชการ ว่าพวกเขามีทรัพย์สินอะไรที่จะเป็นเบาะแสว่าร่ำรวยผิดปรกติอีกแล้ว เพราะ “รัฐธรรมนูญฯ” มาตรา 234 (3) กำหนดให้ ป.ป.ช. เป็นผู้รับยื่นบัญชีฯ และทำหน้าที่ตรวจสอบ
จากนั้นจึงเปิดเผย “ผลการตรวจสอบโดยสรุป” ของเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ว่า ปรกติ มีข้อสังเกตุหรือมีสิ่งผิดปรกติอย่างไร ซึ่งต่างจากเดิมที่จะเปิดเผยให้ประชาชนและสื่อมวลชนที่สนใจหรือรู้ข้อมูลและพฤติกรรมของบุคคลเหล่านั้นได้มีส่วนร่วมตรวจสอบด้วยอย่างอย่างเจาะลึกเพื่อความโปร่งใส
2. ป.ป.ช. ชุดปัจจุบันได้ออกระเบียบเรื่องการปกปิดข้อมูลในบัญชีทรัพย์สินที่จะต้องเปิดเผย ของนักการเมืองและข้าราชการใหญ่ ได้ 14 รายการ เช่น เลขที่บัญชีธนาคาร เลขที่บัญชีหุ้น เลขที่บ้านและที่ตั้ง ทะเบียนรถ เป็นต้น
3. ทั้ง ป.ป.ช. และหน่วยงานที่ถูกร้องเรียน จะปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับคดีที่ “ป.ป.ช. กำลังไต่สวนอยู่” แม้ว่าเรื่องนั้นจะเคยถูกเปิดเผยทางอินเตอร์เน็ตไปแล้วก่อนหน้า เช่น ผลการประมูลจัดซื้อจัดจ้างฯ เหตุนี้ทำให้ข้อมูลในมือของราชการเกี่ยวกับดคีหรือเรื่องร้องเรียนกลายเป็นความลับทันที
การที่ผู้มีอำนาจจะพร่ำบอกกับประชาชนว่า “จะปราบปรามคอร์รัปชันอย่างจริงจัง” จำเป็นต้องให้ความสำคัญในการทำให้ประชาชนและสื่อมวลชนเข้าถึงความจริง และควรรีบแก้ไขปัญหาที่กล่าวมาเพื่อมิให้ระบบและสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้ประชาชนและสื่อมวลชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารถูกปิดกั้นทำลายไปมากกว่าที่เป็นอยู่
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน
WebSite : http://www.anticorruption.in.th